10 สาเหตุ ที่ทำให้ตู้เย็นไม่เย็น 

สามารถทำเองได้ ช่วยเซฟทั้งเงินและเวลาได้

1. คอมเพรสเซอร์ เกิดการชำรุด

   ปัญหาคอมเพลสเซอร์หลังตู้เย็นเกิดการชำรุด ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะส่งผลให้ ตู้เย็นไม่เย็น ทั้งช่องด้านบนและช่องด้านล่าง โดยวิธีการสังเกตง่าย ๆ คือ หากระหว่างการใช้งานตู้เย็น แล้วไม่ได้ยินเสียงคอมเพรสเซอร์ที่อยู่บริเวณด้านหลังตู้เย็นทำงาน แสดงว่าคอมเพรสเซอร์เสีย แนะนำให้เปลี่ยนทันที แต่การเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญ และเชี่ยวชาญ อาจจะเปลี่ยนด้วยตนเองไม่ได้

2. เซนเซอร์ตรวจจับน้ำแข็งเกิดความเสียหาย

   หากพบว่า ตู้เย็นไม่เย็นแต่ช่องฟรีซเย็น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่า ตัวเซนเซอร์ตรวจจับน้ำแข็ง หรือ ระบบละลายน้ำแข็งภายในตู้เย็น เกิดความเสียหาย และเพื่อให้มั่นใจอาจจะสังเกตตัวคอมเพรสเซอร์แอร์ด้วยว่าทำงานปกติหรือไม่ หากทำงานปกติ ให้รีบซ่อมระบบละลายน้ำแข็งทันทีครับ เพราะหากปล่อยปัญหานี้ไว้ อาจจะส่งผลให้ตู้เย็นมีความเย็นจัด และเกิดน้ำแข็งในปริมาณมาก

3. ขอบยางตู้เย็นเสื่อมสภาพ

   เมื่อใช้งานตู้เย็นไปได้สักระยะ วัสดุ หรืออะไหล่ อาจเสื่อมสภาพลงได้ โดยเฉพาะยางบริเวณขอบตู้เย็น ซึ่งทุกบ้านสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองเพียงลองใช้มือจับดูว่า ขอบยางเกิดการแข็งตัวหรือไม่ หากแข็งตัวแสดงว่าขอบยางตู้เย็นเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ตู้เย็นไม่เย็น เพราะประตูตู้เย็นจะปิดไม่สนิท วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคือ ใช้น้ำอุ่นราด แล้วลองใช้มือบีบที่ขอบยาง หากขอบยางกลับมานิ่มเช่นเดิมก็สามารถนำกลับไปใช้งานต่อได้ แต่หากขอบยางไม่นิ่ม ให้เปลี่ยนขอบยางตู้เย็นใหม่ทันทีครับ ซึ่งการเปลี่ยนขอบยางตู้เย็นทุกบ้านสามารถทำเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียกช่าง

4. กระแสไฟที่ใช้ไม่สม่ำเสมอ

   ปัญหา ตู้เย็นไฟไม่เข้า บางครั้งอาจเกิดจากปัญหากระแสไฟที่ใช้กับตู้เย็นไม่มีความสม่ำเสมอ หรือใช้ไฟร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ มากจนเกินไป จึงส่งผลให้ ตู้เย็นไม่เย็น ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นทำงานหนัก และเสียหายได้ครับ ดังนั้นก่อนการใช้งานตู้เย็น ควรสังเกต และคำนวณกระแสไฟที่จะใช้งาน โดยเฉพาะหากต้องใช้ปลั๊กพ่วงร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ

5. ตู้เย็นไม่เย็น เพราะ ไม่ทำความสะอาดน้ำแข็งในช่องฟรีซ

   ในช่องฟรีซหากมีน้ำแข็งเกาะอยู่ในปริมาณมาก โดยเฉพาะตู้เย็นรุ่นเก่า ๆ ที่ไม่มีระบบละลายน้ำแข็ง จำเป็นต้องหาเวลาเพื่อทำความสะอาด โดยส่วนใหญ่แล้วควรละลายน้ำแข็งอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อปี หรือดูตามความเหมาะสมของปริมาณน้ำแข็งที่ถูกสะสม เพราะหากปล่อยให้น้ำแข็งอัดแน่นภายในช่องฟรีซ จะส่งผลต่อการหมุนเวียนของระบบทำความเย็นลดลง การทำความสะอาดก็ไม่ยุ่งยากตู้เย็นรุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบทำความสะอาดให้มาด้วยอยู่แล้ว แต่สำหรับตู้เย็นรุ่นเก่า ๆ อาจจะต้องดึงปลั๊กตู้เย็นออก แล้วเคลียร์ของภายในตู้เย็นออกให้หมด หลังจากนั้นรอให้น้ำแข็งละลายด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ของแข็งช่วย เพราะอาจจะกระทบต่อท่อน้ำยา แผงทำความเย็น จนเกิดความเสียหาย 

6. ของล้นตู้เย็น

   การจัดระเบียบข้าวของภายในตู้เย็น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาตู้เย็นไม่เย็น ได้นะครับ เพราะหากมีของกิน ทั้งของสด ผัก ผลไม้ ของแห้ง แช่ไว้ในตู้เย็นเต็มไปหมด จะส่งผลให้ตู้เย็นทำงานหนัก ระบบหมุนเวียนทำความเย็นไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดระเบียบของที่จะแช่ตู้เย็นเพื่อให้ตู้เย็นดูโล่ง และที่สำคัญดูสะอาดตา โดยวิธีจัดระเบียบตู้เย็นง่าย ๆ ที่ทุกบ้านสามารถทำได้อาจจะหากล่องจัดระเบียบมาใส่อาหารแยกตามประเภทเพื่อให้สะดวกในการเลือกหยิบ หรือเลือกใช้ตู้เย็นที่มีขนาดเหมาะสมกับสมาชิกในครอบครัว และปริมาณของที่ต้องแช่ บางบ้านมักเข้าใจผิดว่าตู้เย็นขนาดใหญ่จะกินไฟ แต่จริง ๆ แล้วหากเราใช้ตู้เย็นขนาดเล็ก แต่แช่ของในปริมาณที่มากไปนั้น จะยิ่งกินไฟมากกว่า

7. อุณหภูมิตู้เย็นไม่เหมาะสม ส่งผลให้ ตู้เย็นไม่เย็น

   อุณหภูมิของตู้เย็น ก็มีผลต่อความเย็นของตู้เย็นเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับอุณหภูมิความเย็นให้เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันตู้เย็นรุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นหน้าจอดิจิตอลจะสามารถปรับอุณหภูมิได้ไม่ยุ่งยาก แต่หากเป็นตู้เย็นรุ่นเก่า ๆ จะมีปุ่มให้หมุนปรับ ส่วนใหญ่แล้วจะหมุนตั้งอยู่ในระดับอุณหภูมิที่เลข 3 หรือขึ้นอยู่กับรุ่นตู้เย็นที่เลือกใช้งาน

8. พัดลมระบายอากาศชำรุด

   ในตู้เย็นมีพัดลมระบายอากาศ ที่คอยช่วยระบายความร้อนออกไป และส่งความเย็นให้กระจายไปรอบ ๆ ตู้เย็น ซึ่งตัวพัดลมระบายอากาศจะถูกติดตั้งอยู่บริเวณด้านหลังช่องแช่แข็ง หากตู้เย็นเกิดปัญหา ตู้เย็นไม่เย็นแต่ไฟติด หรือ ตู้เย็นไม่เย็นแต่ช่องฟรีซเย็น ให้ลองสังเกตที่พัดลมระบายอากาศดูบ้าง ซึ่งหากเป็นตู้เย็นรุ่นเก่า ๆ อาจจะต้องละลายน้ำแข็งออกให้หมดเสียก่อน แล้วดูว่าพัดลมระบายอากาศยังทำงานอยู่หรือไม่ หากไม่ทำงานให้เปลี่ยนใหม่ทันที โดยทุกบ้านสามารถเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง เพียงหาซื้อพัดลมระบายอากาศรุ่นเดียวกับตัวเดิมที่ติดตั้ง มาติดตั้งแทน 

9. ไม่ระมัดระวังขณะขนย้าย

   การเคลื่อนย้ายตู้เย็น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง แม้ว่าตู้เย็นจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดูมีความแข็งแรง แต่จริง ๆ แล้วการดูแลรักษา และเคลื่อนย้ายตู้เย็นต้องอาศัยความละเอียดอ่อนเพื่อป้องกัน ปัญหา ตู้เย็นไม่เย็นแต่ไฟติด และ ตู้เย็นไม่เย็นแต่ช่องฟรีซเย็น โดยข้อห้ามสำหรับการเคลื่อนย้ายตู้เย็นเลยคือ ห้ามยกตู้เย็นเป็นแนวนอน เพราะจะทำให้น้ำยาคอมเพรสเซอร์ไหลออกมาได้ โดยวิธีการยกตู้เย็นที่ถูกต้องคือ ยกเอียงไม่เกิน 40 องศา และหลังจากการขนย้ายเรียบร้อยแล้วไม่ควรเปิดใช้งานตู้เย็นทันที ควรปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมงเสียก่อน แล้วจึงเปิดใช้งานได้ตามปกติ

10. นำของร้อนเข้าแช่ โดยที่ไม่รอให้เย็น

   บางบ้านต้องการถนอมอาหารให้คงอยู่ได้อย่างยาวนาน หลังจากซื้ออาหารมาใหม่ ๆ จึงนำเข้าตู้เย็นทันทีโดยไม่รอให้อาหารอุ่น หรือเย็นเสียก่อน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาตู้เย็นไม่เย็น เพราะ ระบบการทำงานภายในของตู้เย็นจะทำงานได้ลดลง การหล่อเย็นไม่ดี ดังนั้นจึงควรรอให้อาหารที่จะนำไปแช่ภายในตู้เย็นเย็นลงเสียก่อน แล้วถึงนำไปแช่ได้

 

เครดิต ข้อมูลจาก homeguru.homepro